วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การคิดอย่างเป็นระบบ

การดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การกิน การเดินทาง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ใช้กระบวนการทางความคิดเป็นหลักทั้ง สิ้น ผู้ที่คิดอย่างเป็นระบบได้มากที่สุด ผู้นั้นก็จะ มีความได้เปรียบในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันในเกือบทุกองค์กรได้มีการพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีความสามารถในการคิด และทำอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร การคิดอย่างเป็นระบบเป็นส่วนหนึ่งของวินัย 5 ประการ ตามแนวคิดในการพัฒนาองค์กรของการเรียนรู้ของ Dr.Peter Senge (ผู้เขียนเรื่อง The Fifth Discipline : The Art and Practice of the Learning Organization) ซึ่งได้แก่
1.รูปแบบความคิด/จิตใจ (mental model)
2.ความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล (personal mastery)
3.การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision)
4.การเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม (team learning)
5.การคิดอย่างเป็นระบบ (system thinking)
แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่าน หรือศึกษาหลักการเพียงอย่างเดียวแล้วจะทำได้ดี ตรงกันข้ามท่านจะต้องฝึก และทดลองปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน


การคิดอย่างเป็นระบบจริงๆ แล้วมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในส่วนของงานและตัวบุคคล เช่น งานทางด้านวิศวกรรม (engineering) ทางด้านขนส่ง (logistics) ทั้งนี้เป้าหมายก็เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันบุคคลที่คิดอย่างเป็นระบบได้เป็นรูปธรรมจริงๆ และเห็นได้ชัดคือ นักพัฒนาโปรแกรมหรือคนเขียนโปรแกรม (programmer) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบและสลับซับซ้อน มีความคิดอย่างเป็นระบบย่อยๆ อยู่ในความคิดอย่างเป็นระบบหลัก ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล แต่นั่นก็คือการทำงานที่ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล ซึ่งต่างกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลทั่วไป โดยจะเกี่ยวข้องกับงาน บุคคล และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา และเพื่อให้ท่านได้เข้าใจในหลักการง่ายๆ ของการคิดอย่างเป็นระบบซึ่งปกติทุกคนก็มีอยู่แล้วนั้น
โดยในเบื้องต้นขอยกตัวอย่างการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ปกติแล้วจุดประสงค์หลักในการรับประทานอาหารของทุกคนก็คือ "อิ่ม" โดยมีจุดมุ่งหมายรองซึ่งแตกต่างกันแต่ละบุคคล เช่น อาหารมื้อนั้นต้องอร่อย อาหารมื้อนั้นต้องครบ (เกือบครบ) 5 หมู่ ราคาประหยัด อาจมีเป้าหมายย่อยลงไปคือ ร้านที่จะไปรับประทานอยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือเป็นร้านทางผ่านที่ต้องเดินทางไปต่อ เป็นต้น เมื่อเราไปถึงร้านอาหารที่ขายข้าวแกงโดยเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าวันนี้ร้านค้าทำกับข้าวอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเราไปเห็นอาหารเราก็จะเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการของคนคนนั้น แต่ท้ายสุดแล้วทุกคนก็จะอิ่ม ซึ่งความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นล้วนเป็นความคิดอย่างเป็นระบบทั้งสิ้นโดยมีจุดมุ่งหมายหลักก็คือ "อิ่ม"
แต่ในภาวะการทำงานจริงๆ โดยเฉพาะบุคคลระดับหัวหน้างานขึ้นไป ความคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญอย่างมาก เพราะงานจะเข้ามาตลอดเวลาเหมือนกับสายพานลำเลียง แต่หากเราไม่มีกระบวนการทางความคิดที่ดีหรืออย่างเป็นระบบแล้ว งานก็เดินหรือลำเลียงออกไปไม่ได้
และนั่นก็คือปัญหาที่จะตามมาอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าความสำคัญของงานก็จะแปรผันตามระดับความรับผิดชอบของเรา ดังนั้นคนที่เป็นระดับหัวหน้างานขึ้นไปจะต้องหมั่นทำเป็นประจำ
ทำอย่างไรที่จะคิดอย่างเป็นระบบ (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลักสูตรในการอบรม) ขั้นแรกต้องฝึกจินตนาการ (ไม่ใช่เพ้อฝัน) โดยมีเหตุมีผล เป็นการจำลองเหตุการณ์ทางความคิด ซึ่งคนที่จะทำการ simulation ได้ดี คนคนนั้นจะต้องมีประสบการณ์หรือพื้นฐานในเรื่องนั้นดีด้วย เพราะไม่เช่นนั้น simulation ก็จะไม่เป็นจริง
แต่ถ้าเราไม่รู้ล่ะ... ก็ต้องหาข้อมูลและทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ไม่เช่นนั้นความล้มเหลวหรือความผิดพลาดก็จะตามมา ท่านลองคิดซิว่าถ้าท่านต้อง รับผิดชอบจัดงานเลี้ยงพนักงานประจำปี หรือจัด พนักงานไปอบรมดูงานนอกสถานที่ ท่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยคนที่ไม่อยากคิดมากอาจใช้วิธีจ้างคนมาดำเนินการแทน ในงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับจ้างก็จะบวกค่าดำเนินการ (ค่าความคิดของเขา) เข้าไปด้วย แต่ถ้าเราทำเองล่ะ...จะประหยัดกว่าหรือไม่
การทำงานในปัจจุบันก็เช่นกัน เราต้องตัดสินใจทำอะไรก่อนหลังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตามที่เราได้เรียนหรืออบรมมาก็จะมีการจัดลำดับการทำงานอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ
1.งานด่วน และสำคัญ
2.งานด่วน แต่ไม่สำคัญ
3.งานไม่ด่วน แต่สำคัญ
4.งานไม่ด่วน และไม่สำคัญ
เกือบทั้งหมด ก็จะเลือกทำงานด่วนและสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าถามถูกมั้ย ก็ตอบว่าไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในชีวิตการทำงานจริงเราจำเป็นต้องให้มีผลงานออกมาในแต่ละวันโดยเฉพาะงานที่เจ้านายสั่ง
ซึ่งบางครั้งเราอาจจะต้องเอางานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญก่อน หากงานนั้นใช้เวลา 5-10 นาทีหรือเพียง 1 นาที (ออกคำสั่ง) ซึ่งนั่นคือผลงานที่ออก มาแล้วอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ถ้าท่านทำงานด่วนและสำคัญก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาครึ่งวัน เจ้านายอาจจะเดินมาหาท่านหลายรอบ เพราะยังไม่มี งานออกมาเลยสักอย่าง คุณคิดว่าเจ้านายจะคิดอย่างไร ???


การคิดอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่เป็นการสร้างให้บุคคลหรือทีมงานมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการมองภาพรวมเท่านั้น ยังจะช่วยขจัดปัญหาความ ซับซ้อนของงานได้อีกด้วย และยิ่งเราเป็นระดับหัวหน้างานด้วยแล้ว เราก็จะเป็นเพียงคนจัดลำดับวางแผนและตัดสินใจงานเท่านั้น หากเราคิดอย่างเป็นระบบได้ดี งานก็จะออกมาอย่างต่อเนื่องและนั่นคืออนาคตของท่าน ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบนั่นเอง


เราเอาบทความนี้มาแนะนำให้เพื่อนๆอ่านกันดูนะ เพราะเราคิดว่าถ้าเรามีการใช้ความคิดอย่างเป็นระบบมาใช้ในชีวิตประจำวันเราแล้วนั้น มันก็น่าจะส่งผลถึงในการทำงานต่างๆรวมถึงการเรียนวิชานี้ด้วยนะจ๊ะ ^^

8 ความคิดเห็น:

  1. ช่ายยย เพราะถ้ามัวแต่ทำงาน
    ที่เร่งด่วน และสำคัญ ซึ่งงานชิ้นนี้ใช้เวลานานในการทำ

    ก็จะให้งานที่
    ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ มีเวลาในการทำน้อยลง
    และก้จะทำให้งาน ชิ้นนี้ กลายเปน งานเร่งด่วนละสำคัญในที่สุด

    เหนด้วยๆ ฮ่าๆ เพราะตอนไปฝึกงาน พี่ที่ออฟฟิส เค้าก้สอนเหมือนกัน ^_^

    ตอบลบ
  2. การจัดระบบความคิดที่กระเจิดกระเจิงให้เป็นหมวดหมู่และเป็นระบบระเบียบ ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช้เรื่องง่ายหากแต่ว่า เราต้องฝึกฝนนะจ้ะ

    ตอบลบ
  3. ในการชีวิตประจำวันเราก็สามารถที่จะคิดอย่างเป็นระบบได้ละสิ

    อาทิตย์(หมี)

    ตอบลบ
  4. สรุปว่า งานที่ด่วน และสำคัญ

    ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นงานอย่างแรกที่เราทำสิ

    แต่เราก็เห็นด้วยนะว่า บางครั้งเราก็ต้องทำงานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญก่อน

    ถ้างานนั้นใช้เวลาทำที่น้อยกว่า

    นิติรัตน์ (นิ)

    ตอบลบ
  5. เป็นบทความที่ดีมากเลย ทำให้ได้รู้ว่าการคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญกับชีวิตเรามากแค่ไหน...

    เพราะถ้าเรามีการบริหารจัดการระบบความคิดที่ดีแล้ว ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และเสร็จเร็วมากยิ่งขึ้น ^0^

    จิราพร (จูน)

    ตอบลบ
  6. ตอนนี้รู้สึกว่า "อิ่มแล้ว" ???

    เพราะได้รับอาหารทางตา ที่ดีมากๆ เลยส่งผลไปเป็นอาหารสมอง

    ชอบบทความตรงที่บอกว่าเราต้องฝึกปฏิบัติจริงๆ

    จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบ

    และการจัดเรียงลำดับงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

    แต่ถ้าในความคิด เรื่องการจัดลำดับงาน แล้ว คิดว่า......

    (อ่านแล้วอาจจะเครียดหน่อยนะ)

    ถ้าเกิดปัญหาจุดไหนในขณะนั้น

    ซึ่งถ้าไม่ทำแล้วเกิดความเสียหายมากกว่า

    เราควรจะแก้ไขที่จุดนั้นก่อน แล้วจึงไล่ไปถึงสาเหตุที่แท้จริง

    จากบทความ ถ้าทำงานเล็กก่อนจะทำให้เรามีผลงาน

    ซึ่งแสดงว่างานที่สำคัญและเร่งด่วนสามารถรอได้?

    แต่ถ้าเราทำงานเล็กก่อนแล้วงานใหญ่ไม่เสียหายก็ควรทำ

    โดยเราจะทำงานทั้งหมดให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด

    ถ้าเราทำงานสำคัญเร่งด่วนไม่สำเร็จ เราก็หาที่ปรึกษาเพิ่มเติม

    แต่ถ้าทำแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ก็ถือว่า เราทำดีที่สุดแล้ว(ให้กำลังใจตัวเอง)

    ซึ่งชีวิตของเรามีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา

    สักวันหนึ่งเราต้องประสบความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว

    ชอบบทความนี้มากๆเลย เพราะได้ใช้ความคิดแบบเข้มข้นจริงๆนะ

    ยังไงเย็นวันนี้ไปตลาดนัด ก็จะวางแผนก่อนว่าจะ "อิ่ม" อย่างไรดี ^_^

    ขอบคุณมากๆนะ

    เกรียงไกร(อาท)

    ตอบลบ
  7. เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า บางครั้งเราก็ต้องทำงานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญก่อน แต่นอกเหนือจากนี้เราคิดว่า งานด่วนหรือไม่ด่วน สำคัญหรือไม่สำคัญ เราเองได้ทุ่มเทกับมัน แล้วทำให้ดีที่สุดหรือเปล่า เพราะบางครั้งเราแบ่งเวลาไม่ถูกแล้วต้องทำงานที่มันสำคัญและด่วนมากให้เสร็จจนละเลยที่จะทำงานนั้นออกมาให้ดี และจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็จะลองนำวิธีการคิดอย่างเป็นระบบนี้ไปใช้ แต่ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน อิอิ

    ปวีณา (ปุ๋ย)

    ตอบลบ
  8. post ได้เยี่ยมมากเลย
    เห็นด้วยกับบทความมาก การโพสนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้ตื่นตัวรู้จักวางแผนให้กับตัวเอง รู้จักคิด ซึ่งจะทำให้เรามีชีวิตที่ได้

    แม้แต่การที่เราดำเนินชีวิตประจำวันนั้น การคิดอย่างเป็นระบบก็สามารถช่วยให้เราทำอะไรได้ดีไม่ผิดพลาดหรือช่วยให้เราไม่หลงๆลืมๆได้ เพราะการที่รู้จักคิดนั้นเท่ากับเป็นการเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่บางทีก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน

    ในเรื่องการการงานถ้ามีการคิดการวางแผนก็ยิ่งทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพเหมือนกัน อิอิ

    มนัสนันท์ จันทวงค์ (มินต์)

    ตอบลบ