วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

show ห่วย

เหตุที่คำคำนี้มาเป็นที่สนใจในช่วงนี้ เพราะมีการเรียกร้องของบุคคลที่ทำธุรกิจประเภทร้านค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ สารพัด (หรือจิปาถะ) กับกลุ่มพ่อค้าขายปลีกในเมืองไทยมีความสนใจร่วมกันว่า การค้าการขายของประเภทร้านขายปลีกเล็กๆ น้อยๆ นี้ ได้รับความกระทบกระเทือนจากการที่บริษัทขายปลีกใหญ่ข้ามชาติเข้ามาตั้งสาขาในประเทศมากขึ้น

บริษัทขายปลีกใหญ่ๆ ที่ว่า เขายกตัวอย่างเช่น ห้างโลตัส ห้างคาร์ฟู และที่กำลังจะมาในอนาคตอันใกล้คือ วอลมาร์ต ฯลฯ

บริษัทค้าปลีกสาขาต่างชาติเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีเงินทุนมาก สามารถตั้งห้างขายสรรพสินค้าใหญ่โต สามารถรับสินค้าจากร้านขายส่งในจำนวนมากๆ แล้วมาขายปลีกในราคาที่ต่ำมาก

ยิ่งกว่านั้น ห้างสรรพสินค้าขายปลีกใหญ่ๆ เหล่านี้ยังสามารถเปิดขายดึก บางสาขาขายถึง ๓ ทุ่ม หรือ ๖ ทุ่ม บางแห่งอาจขายตลอด ๒๔ ชั่วโมง จึงเป็นผลกระทบต่อร้านขายปลีกเล็กๆ ที่คนไทย คนจีนที่มีทุนน้อยๆ เปิดขายกันมาก่อน จนบางร้านต้องปิดไปเพราะขายสู้ห้างใหญ่ๆ ไม่ได้




ในแง่ภาษา คำว่า “โชห่วย” เป็นคำที่เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว เพราะคนจีนเก่าๆ ที่หอบ “เสื่อผืนหมอนใบ” หนีความยากจนในการครองชีพ เสี่ยงตายข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีน คนจีนนั้นเป็นคนขยันและมีความเฉลียวฉลาดอดทน การเปิดขายของเล็กๆ น้อยๆ เป็นร้านเล็กๆ ประเภทเอากำไรแต่น้อย แต่ขายได้มากจึงยังชีพอยู่ได้

บัดนี้คงจีนประเภทเสื่อผืนหมอนใบนั้นกลายเป็น “เถ้าแก่” “อาเสี่ย” หรือมหาเศรษฐีไปหมดแล้ว เหลืออาชีพตั้งร้านขายของเล็กๆ น้อยๆ ให้คนไทยผู้ยากจนดำเนินตาม อย่างตามมีตามเกิด และกำลังตายไปทีละร้านสองร้าน เกือบจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า

ที่เสียงร้องดังขึ้นมาก็เพราะ นายห้างค้าปลีกของคนไทยเชื้อสายจีนเกิดได้รับความกระทบกระเทือน จึงต้องทำเรื่องให้โด่งดังขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้คนไทยซึ่งเป็นคนเบี้ยน้อยหอยน้อยตาดำๆ ได้ตระหนักและหันมาสนใจร้าน “โชห่วย” ที่ทำมาหากินกันมานานด้วยอัธยาศัยไมตรีแต่เดิมอีกครั้ง

ที่ “โชห่วย” นั้นเป็นคำที่ใช้พูดๆ กัน ก็คงจะเรียกทับศัพท์ตามคนจีนเก่าที่นำเข้ามา คำนี้ไม่ปรากฏใน “พจนานุกรม” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และฉบับที่ “ลอก” เลียนอื่นๆ

หากปรากฏใน “พจนานุกรมนอกราชบัณฑิตยสถาน” ของสำนักพิมพ์ “มติชน” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก กันยายน ๒๕๔๓ นี้ โดยให้คำอธิบายว่า “โชห่วย-น. ของชำ, ว. ร้านขายของชำ” จึงเป็นคำที่คนไทยเชื้อสายจีนยุคใหม่ไม่รู้จัก ต้องมาถามลูกชาวบ้านอย่าง “สุดสงวน” ว่าหมายถึงอะไร และคำไทยมีใช้หรือไม่
“สุดสงวน” จึงตอบว่า คำที่คนไทยพื้นๆ ทั่วๆ ไปใช้ก็คือ “ของชำ ร้านขายของชำ” คำนี้เยาวชนยุคใหม่ ไม่ว่าลูกไทย ลูกจีนฟังแล้วดูงงๆ เพราะเขารู้จักแต่ห้างสรรพสินค้า ร้านฟาสต์ฟูด (ความจริงน่าจะเขียน “ฟาสต์ฟู้ด”) ฯลฯ อย่างมากที่รู้ก็คือร้านท็อป หรือ เซเว่น-อีเลฟเว่น” หรือ “บิ๊กซี” ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเป็นภาษาต่างด้าวทั้งนั้น

นอกจากนั้นแล้ว “ชำ” ยังหมายถึง “ชื่อคำไทยที่ว่า “ชำ” นั้นนอกจากเป็นคำกริยาที่หมายถึง “เอากิ่งไม้ที่ตัดหรือตอนมาปักดินไว้ที่ที่ดินแฉะ หรือมาแช่น้ำหรือฝังชั่วคราวในดินทรายชุ่มๆ เพื่อให้รากงอกอย่างที่เราเรียก “ถั่วงอก “) ร้านหรือเรือขายสินค้าของแท้ต่างๆ ที่เป็นเครื่องอาหาร เป็นต้น” แล้วยกตัวอย่างว่า “ร้านชำ” หรือ “เรือชำ”

นั่นคือสภาพเดียวกับที่โด่งดังในช่วงนี้ด้วยคำว่า “โชห่วย” แล้วนักสื่อสารมวลชนยุคใหม่ไม่รู้จัก ต้องเขียนเป็น “โชว์ห่วย” เพราะคนยุคใหม่มักคุ้นกับภาษาสากล “Show” ซึ่งเราเอามาใช้ในภาษามากๆ เช่น ในรายการโทรทัศน์ มี “โชว์” ต่างๆ มากมาย แม้ใน “ทไวไลท์โชว์” ของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ แห่งโทรทัศน์ช่อง ๓ ก็มีย่อยลงไปเป็น “โชว์อ๊อฟ” (ซึ่งหมายความในภาษาอังกฤษจริงๆ เขานึกไปในอารมณ์ที่ไม่น่าชื่นชมนัก มักมองคนที่ชอบ “Showofff” ในทำนอง “ชี้โอ่ ชอบโอ้อวด” มากกว่าว่าเป็น “การแสดงออกซึ่งความสามารถ” ตามความตั้งใจของคนตั้งชื่อ)

นอกจากนั้นก็มีช่วง “talkshow” หรือ “ทอล์คโชว์” ซึ่งเป็นการสนทนากับแขกรับเชิญมาร่วมรายการ ซึ่งนักสื่อสารมวลชนบางท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า คนพูดหรือแสดงประกอบการพูดอย่าง “เดี่ยวไมโครโฟน” ของ โน้ส (อุดม แต้พานิช) คือ พูดจาแสดงความเฉียบแหลมและขำขันอย่างที่ อาจารย์จตุพล ชมพูนิช อาจารย์เสน่ห์ ศรีสุวรรณ อาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ อาจารย์พนม ปีเจริญ อาจารย์อภิชาติ ดำดี ฯลฯ ทำกันนั้นก็อยู่ในข่าย “ทอล์คโชว์” เหมือนกัน

ด้วยคำว่า “โชว์” ของฝรั่งมามีอิทธิพลต่อคนไทยยุคใหม่นี้เอง คำในหนังสือพิมพ์ปัจจุบันจึงกลายเป็น “โชว์ห่วย” ไปด้วยประการฉะนี้

แต่เป็นคำที่น่ารังเกียจ เพราะคำว่า “โชว์” หมายถึง “การแสดง” แล้วคำว่า “ห่วย” ก็เป็นคำสแลงยุคใหม่ซึ่งมีความหมายว่า “ไม่ดี แย่” อะไรทำนองนี้

ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว “โชว์ห่วย” ก็เป็นคำที่มีความหมายไม่ดี

แต่ก็คงจะเข้ากับลักษณะการแสดงต่างๆ ของรายการทางวิทยุและโทรทัศน์ในปัจจุบันมากกว่าคำที่ควรเขียน “โชห่วย” ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาจีนดั้งเดิม และ “สุดสงวน” เข้าใจว่าผู้อ่าน “สกุลไทย” คงมีวุฒิภาวะและวิจารณญาณดีพอที่จะเลือกว่าควรเขียน “โชห่วย” หรือ “โชว์ห่วย” ดีกว่ากัน

แต่ถ้าจะให้ฟังเป็นไทยๆ ดีก็ควรจะเรียกว่า “ร้านขายของชำ” หรือ “ร้านชำ” นั่นแหละดีแน่ เพราะเป็นคำไทยมาแต่สมัยบรรพกาล

credit: นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2448 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 18 กันยายน 2544 คอลัมภ์สุดสงวน

"ร้านโชห่วยในประเทศไทยมีมานานมากแล้ว ถือได้ว่าเป็นธุรกิจ SME ประเภทแรกที่ถือกำเนิดขึ้นเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคทุนนิยม ทุนต่างชาติก็ได้เข้ามาแข่งขันกับคนไทย จนทำให้โชห่วยไทยแทบจะเอาตัวไม่ร้อน เนื่องจากว่าเขามีทั้งเงินทุน ทั้งเทคโนโลยี แล้วเราควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้โชห่วยไทยแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า อย่างแรกวรจะต้องมีการตกแต่งร้านใหม่ให้ดูน่าเข้า สองมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้มีของเก่าหมดอายุฯ และสามควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเข้ามาใช้งาน ถ้าคุณเป็นเจ้าของร้าน คุณจะทำอย่างไร"
abearo_MIE

4 ความคิดเห็น:

  1. สนมวอนแวะมาตอบคับ...

    สนมวอนว่าพวกลุง ๆ ป้า ๆ ร้านชำทั้งหลาย (สนมวอนติดคำว่าร้านชำอ่ะนะคับ จะใช้โชห่วย ก้อต่อเมื่อได้ดูโชว์ ห่วย ๆ)เค้าก็อยากจะแข่งขันกับบรรดา ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ โต ๆ ทั้งหลาย

    แต่แบบว่าสิ่งที่เรียกว่า "ทุน" หรือ "ต้นทุน" นี่สิครับ เรื่องใหญ่

    ไม่มีใครตอบได้เลยว่า มันจะคุ้มค่าหรือเปล่า

    สนมเคยถาม "ลุงแกละ" เจ้าของร้านชำในซอยนะคับ ว่าไม่คิดจะปรับปรุงร้านให้มันสู้ พวก 7-11 หรือว่า แฟมิลี่ มาร์ท กับเค้าบ้างหรือคับ

    ลุงแกละ ก็บอกมาว่า ไอ้หนู เอ๊ย ! ลุงอยู่แบบนี้ของลุงก็ดีแล้ว อย่าให้ลุง "เจ็บตัว" ไปมากกว่านี้เลย..

    เท่านั้นแหละคับ สนมวอนก็เกิดดวงตาเห็นธรรม เข้าใจลุงแกละในทันที

    55 ตอบไม่ตรงคำถามซะงั้นอ่ะ !????

    sanom_WON ~ I am GooD_kNIGHT
    สนมวอน ~ อัศวินผู้แสนดี

    06252009
    01:08 pm

    _______________
    พัฏฐวร (วอน)

    ตอบลบ
  2. โชว์ห่วย ชื่อแบบล้าสมัยๆ
    เพียงแค่มันไม่สะดวกในการมาซื้อซะมากกว่า

    น่าสงสารเจ้าของธุรกิจเหล่านี้
    ที่ต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากร้านค้าสะดวกซื้อ

    วิภารัตน์ (แหม่ม)

    ตอบลบ
  3. พูดตรงๆ ตอนแรกที่ได้ยินคำว่าร้านโชว์ห่วย ก็ งง
    เห้ย มันคงเป็นทำนอง ว่า ร้านที่ขายของแบบกังๆ แย่ๆ แน่ๆเลย

    แต่มันก็จริงน่าถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ผู้บริโภค อาจะไม่มีสิทธิ์ในการที่เลือกร้านค้า เพราะบริษัทต่างประเทศยังไม่ได้เข้ามามีการลงทุน แต่หลังจากที่เริ่มมีการเข้ามาลงทุน ก็มีการทำร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11 family อะไรยั่งงี้ ก็เริ่มทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีสิทธิ์ที่จะเลือกสินค้าที่ดีที่สุดในการตอบสนองตัวเอง

    ปัจจุบัน ร้านโชว์ห่วยก็คงมีลดน้อยลง หรือถ้าจะมีก็คง เป็นแถวๆชนบท ซึ่งผู้บริโภคก็คงต้องจำใจซื้อ เนื่องจากไม่มีโอกาสที่จะได้เลือก

    แต่ถ้าร้านโชว์ห่วย มีการพัฒนาการจัดการร้าน มีการพัฒนาระบบการขายที่ดี มีการจัดสินค้าแบบดึงดูด มีการเช๊ควันหมดอายุสินค้า หรือมีการพัฒนาอื่นๆ ก็จะสามารถที่จะสู้กับคู่แข่งขันที่มีอยู่ในปัจจุบันได้แน่นอน อยู่ที่ว่า เจ้าของร้านจะทำหรือไม่ทำก็เท่านั้น

    ตอบลบ
  4. ps.เวงกำพิมเพลิน ลืมบอกชื่อ ฮ่าๆ

    (สุภาวดี) ฝ้าย

    ตอบลบ