วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รู้จักกับ BIOS (Basic Input/Output System) กันไว้ก่อน

อุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ทุกชนิดที่เป็น ฮาร์ดแวร์ จะสามารถทำงานได้โดยต้องมี ซอฟท์แวร์ ประกอบด้วย สำหรับ BIOS (Basic Input/Out System) นี้จะเป็นที่เก็บ ซอฟท์แวร์ ขนาดเล็ก ๆ ไว้ในชิป ROM (เป็นแบบ EPROM : Erasable Programmable Read-Only Memory) เพื่อใช้สำหรับทำการบูทเครื่องคอมพิวเตอร์จากแผ่น floppy disks (FDD) หรือจาก hard disks (HDD) โดยที่ BIOS จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการ POST (Power-On Self Test) ก่อนที่จะเรียกใช้ ซอฟท์แวร์ ที่เป็น Operating System เช่น DOS หรือ Windows จาก FDD หรือ HDD เพื่อทำการเริ่มต้นเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้สามารถทำงานได้ต่อไป

นอกจากนี้ BIOS ยังเป็นตัวกำหนดค่าต่าง ๆ ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะควบคุมการทำงานของ Keyboard, ควบคุมการทำงานของ Serial Port, Parallel Port, Video Card, Sound Card, HDD Controller และอื่น ๆ ในบางครั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ๆ เมื่อมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาหาก BIOS ไม่สามารถรู้จักและใช้งานได้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่บรรจุใน BIOS ให้รู้จักกับอุปกรณ์ใหม่ ๆ นั้นด้วยที่เรียกกันว่า Flash BIOS นั่นเอง

สำหรับปัจจุบันนี้ BIOS จะเก็บไว้ใน EPROM ซึ่งเป็นหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่ปกติจะใช้สำหรับอ่านได้อย่างเดียว (ส่วนใหญ่จะเป็นไอซีตัวสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ อยู่บนเมนบอร์ด) โดยที่เราสามารถทำการ ลบข้อมูลและโปรแกรมข้อมูล ลงไปใหม่ได้โดยใช้ซอฟท์แวร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการ Flash BIOS นั้น ๆ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของ BIOS EPROM และเมนบอร์ดด้วยนะครับว่าสามารถ Flash ได้หรือเปล่าโดยวิธีการง่าย ๆ คือตรวจสอบจากเวปไซต์ของผู้ผลิดเมนบอร์ดนั้น ๆ (โดยส่วนใหญ่แล้ว เมนบอร์ดสำหรับ Pentium ขึ้นไปส่วนใหญ่จะทำการ Flash ได้แล้ว)

โดยปกติแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ จะมีการตั้งค่า Configuration ที่แตกต่างออกไปได้ ซึ่งค่าเหล่านี้จะถูก BIOS เก็บไว้ในส่วนของ CMOS RAM ประมาณ 64 Bytes ซึ่ง CMOS นี้จะต้องมีการจ่ายไฟเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาจาก แบตเตอรี่ เพื่อให้ค่าที่ตั้งไว้ไม่หายไปเมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งในส่วนของ CMOS นี้จะเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้พลังงานน้อยมาก ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้นานโดยไม่ต้องคอยเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย ๆ

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องทำการตั้งค่าต่าง ๆ ใน BIOS ให้เหมาะสมเช่น ค่าความเร็วของการอ่านข้อมูลจาก Memory การตั้ง Enabled หรือ Disabled อุปกรณ์ต่าง ๆ, ความเร็วของ PCI BUS, ชนิดของ Floppy Disk หรือ Hard Disk ที่ใช้งาน, อุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เช่น SCSI และอื่น ๆ อีกมากมายที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

BIOS ที่มีใช้งานอยู่ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 บริษัทคือของ AMI BIOS (American Megatrends Inc) และ AWARD (ปัจจุบันรวมเข้ากับ Phoenix Technologies, Ltd. แล้ว) นอกจากนี้ก็จะมี BIOS ที่เป็นของแบนด์เนมต่าง ๆ เช่น COMPAQ หรือ IBM ซึ่งจะมีหน้าตาและวิธีการตั้งค่าแตกต่างออกไปด้วย
สรุปว่า BIOS มีความสำคัญมากในระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มี BIOS เราก็ไม่สามารถเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

ชลัมพล(อุ้ม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น