วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

Good Story

มีเรื่องที่อ่านแล้ว เห็นว่า น่าจะมีประโยชน์ บ้างมาให้อ่านกันคะ

"Butterfly Story"

ในระหว่างทานข้าวกลางวัน วนิดาซึ่งเป็น CEO ถามกิตติผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งที่รายงานตรงต่อเธอว่า “ กิตติ พี่สังเกตว่าคุณไม่เคยปิดมือถือเลย แม้กระทั่งเวลาประชุม แล้วพี่ก็เห็นคุณขอตัวออกไปจากที่ประชุมกลางคันเพื่อรับโทรศัพท์ พี่อยากรู้ว่าเป็นโทรศัพท์ของใครหรือ ทำไมมันสำคัญขนาดรอจนจบประชุมไม่ได้ พี่เห็นเป็นประจำเลยนะ ” กิตติมีท่าทีอึดอัด เขาตอบว่า “ ไม่มีอะไรหรอกครับ เรื่องส่วนตัวนะครับ ผมขอโทษ ” วนิดายิ้มแบบผู้ใหญ่ใจดี เธอเงียบไปสักครู่จึงพูดต่อ “ กิตติ เราสองคนทำงานด้วยกันมาพอสมควร คิดว่าพี่เป็นพี่สาวของคุณก็ละกัน เพราะพี่อายุมากกว่าคุณสองสามปี มีอะไรก็เล่าสู่กันฟังซิคะ เผื่อว่าพี่อาจจะแนะนำอะไรให้ได้บ้าง ” วนิดาเลือกใช้แนวทางพี่น้อง แทนที่เธอจะตำหนิเขาโดยตรง ในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่ประชุมแบบเจ้านายกับลูกน้อง วิธีนี้ได้ผล! กิตติสารภาพออกมาแบบกระอักกระอ่วน “ ก็...คือว่า...พี่อย่าโกรธผมนะครับ มันเป็นโทรศัพท์มาจากลูกสาวผมเอง เธอเพิ่งไปเรียนไฮสคูลที่ออสเตรเลียเมื่อไม่กี่เดือน โรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนนี้ค่อนข้างจะเข้มงวด แถมมีการบ้านจมเลย ตอนลูกสาวผมเรียนที่นี่ ผมช่วยติวและทำการบ้านร่วมกับเธอบ่อยๆ ลูกคนเดียวเธอคือดวงใจของผมเลยครับ ผมบอกเธอว่าไปอยู่นั่น ติดขัดเรื่องการบ้านละก็โทรมาหาผมได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ผมจะคอยช่วยเหลือเธอผมไม่ต้องการเห็นเธอล้มเหลว ตอนค่ำเมื่อกลับบ้านผมก็แทบจะไม่ได้พักผ่อน แต่จะไปช่วยเธอทำการบ้านแล้วก็แฟ็กซ์ส่งไปเรื่องคณิตศาสตร์บ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ผมอยากให้เธอประสบความสำเร็จ ผมต้องขอโทษที่บริหารเวลาไม่ค่อยได้เรื่อง ” กิตติจบเรื่องลงด้วยท่าทีละอายใจ วนิดาแสดงความเห็นใจ “ เรื่องของคุณมันฟังแล้วคุ้นๆมากเลย พี่พอจะจินตนาการออก ถึงความลำบากใจของเธอ พี่เองก็มีลูกสาวเรียนปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา พี่เคยทำแบบคุณเหมือนกัน เพราะลูกสาวพี่จบตรี แล้วไปต่อโทเลย จึงไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้นพอทำกรณีศึกษาก็มักจะ ไม่ทันเพื่อนเขา หรือไม่เข้าใจ แถมยังไม่กล้าถามอาจารย์อีก พี่เลยต้องช่วยทำเคส แล้วก็อีเมล์ไปให้เธอ แต่ว่าตอนนี้พี่หยุดช่วยเธอแบบนั้นแล้วล่ะค่ะ ” กิตติถามด้วยความประหลาดใจ “ ทำไมล่ะครับ พี่ไม่รักเธอแล้วหรือ หรือว่าพี่เห็นว่างานมีความสำคัญกว่าครอบครัวครับ ”

วนิดาตอบพร้อมกับยิ้มอย่างอารมณ์ดีว่า “ พี่ยังรักลูก และเห็นคุณค่าของครอบครัวและงานเหมือนเดิม พี่โชคดีที่มีเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาสังเกตเห็นวิธีที่พี่ช่วยลูกสาว แล้ววันหนึ่งเขาก็ให้หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Power of Failure โดย Charles C. Manz และมีการแปลเป็นไทยในชื่อ วิกฤติคือโอกาส โดยพสุมดี กุลมา เรียบเรียงโดย นราธิป นัยนา เพื่อนอเมริกันเขาคั่นเรื่องๆหนึ่งให้พี่อ่านโดยเฉพาะเลย พี่จะเล่าให้เธอฟัง

”........ มีชายคนหนึ่งนั่งมองผีเสื้อที่กำลังดิ้นรนจะออกจากรังไหม เจ้าผีเสื้อดิ้นรนไปซักพัก จนกระทั่งใยรังไหมเริ่มขาดเป็นรูเล็กๆ ชายคนนั้นมองด้วยความสนใจ เจ้าผีเสื้อดูเหมือนจะหยุดไป ที่จริงผีเสื้อมันพักเพื่อที่จะดิ้นรนต่อไป แต่ว่าชายคนนั้นคิดไปเองว่าผีเสื้อคงติดใยรังไหม ไม่สามารถจะออกมาได้ด้วยตนเอง ด้วยความหวังดี เขาจึงนำกรรไกรขนาดเล็กมาตัดใยรังไหมนั้น ทำให้รูมันขยายใหญ่ขึ้น เจ้าผีเสื้อเห็นรูขยายใหญ่ขึ้นมันก็คลานต้วมเตี้ยมออกมา แต่เขาสังเกตว่าตัวมันมีขนาดเล็กกว่าปกติ ปีกเหี่ยวย่น แถมลำตัวของเจ้าผีเสื้อก็มีลักษณะบวมผิดปกติ กลายเป็นว่าในขณะที่ผีเสื้อต้องดิ้นรนออกแรงตะเกียกตะกาย เพื่อพยายามจะดันตัวมันออกจากรังไหมนั้น เป็นกระบวนการธรรมชาติที่จะกระตุ้นให้ของเหลวชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในลำตัวผีเสื้อเคลื่อนที่มาสู่ปีก เพื่อทำให้ปีกแข็งแรงเพียงพอจะบินได้ ด้วยความปรารถนาดีของชายคนนั้น ผีเสื้อตัวนี้ปีกจึงเหี่ยวย่นไม่แข็งแรงเพียงพอจะบินได้ แถมยังมีรูปร่างพิกลพิการ เพราะของเหลวที่ควรจะอยู่ที่ปีก ดันไปติดคั่งค้างอยู่ที่ลำตัว เจ้าผีเสื้อตัวนี้ออกจากใยมาได้ด้วยความสบาย แต่ต้องพิกลพิการ และบินไม่ได้ไปชั่วชีวิตของมัน ....."

อุปสรรคและความล้มเหลวในชีวิตของคน ก็คล้ายๆกันกับสิ่งที่เจ้าผีเสื้อเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ความก้าวหน้าในชีวิต การพัฒนาทักษะ ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ล้วนแล้วแต่น่าสงสารและน่าเห็นใจ แต่จะได้คุณค่ามาก็ด้วยการล้มเหลวอย่างถูกวิธี

เราจะคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต โดยไม่มีความล้มเหลวนั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราเผชิญอุปสรรค แล้วเราหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขหรือต่อสู้กับมัน เท่ากับว่าเรากำลังเสียโอกาสสำคัญในการเรียนรู้บทเรียนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในชีวิตของคน

กิตติฟังด้วยความสนใจ “ โอ้โฮ เรื่องนี้จุดประกายน่าดูครับ แต่ผมกลัวว่าลูกผมจะเกลียดผมนะซีครับ ” วนิดาเสริมต่อ “ มีคำพูดที่ว่า 'No pain No gain' "ไม่เจ็บ ไม่ได้เรียนรู้" ที่จริงพวกเรานะผิดเองที่ป้อนลูกๆ เรามากไป สำหรับกรณีของพี่ พี่อธิบายให้ลูกเขาเข้าใจด้วยการเล่าเรื่องนี้แหละ หลังจากนั้น พี่ก็ขอโทษสำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกแบบผิดๆในอดีต ลูกๆ ของเราเขาฉลาดพอจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้นะ ... กิตติ คุณลองมองไปรอบๆตัวเราสิ เรามีพนักงานที่มีความรู้ มาจากครอบครัวที่มีฐานะ หลายคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พวกเขาไม่อดทนต่อปัญหาและอุปสรรค คนที่ควรถูกตำหนิคือ พ่อแม่ของเขา คุณอยากถูกคนอื่นเขาต่อว่าแบบนี้ในอนาคตไหมล่ะ แถมลูกๆ ของเรายังอ่อนแอไม่สามารถจะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคได้ .....คุณมีสิทธิ์เลือกนะ … ”

5 ความคิดเห็น:

  1. เหมือนเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน" เลยครับ

    บางครั้งความรักความหวังดีที่พ่อแม่ให้ลูกมากเกินไป

    กลับกลายเป็นอาวุธอันตรายที่ทำร้ายลูกตัวเอง

    ตอบลบ
  2. ไม่ว่าจะเจออุปสรรค ขวากหนาม
    มากมาย ซักเท่าไหร่ ผมคนนึงยัง
    มีความเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมัน
    จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถ้าเราทุกคน
    พยายามหาหนทางในการแก้ปัญหา
    อย่างถูกวิธี สู้กับมัน ท้อได้แต่อย่าถอย
    สิ่งสำคัญที่สุดคือ
    เราได้ต่อสู้พยายามอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง
    ถ้ายัง ก็รีบลงมือทำเดี๋ยวนี้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
    จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีไม่ช้าก็เร็ว
    ฟ้าหลังฝนย่อมจะสดใส
    แต่ถ้าฝนไม่ไป ก็พยายามหา
    ฟ้าฝนกับคนที่เข้าใจแทน นะครับ
    วรุตม์(เน)

    ตอบลบ
  3. อืม เปนเรื่องที่ดีจิงๆคับ
    เหมือนกับ พ่อแม่รังแกฉัน อย่างที่หมีพูดแหละคับ
    "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ครับ

    พงศธร(พง)

    ตอบลบ
  4. อ่านแล้วก็ได้ข้อคิดมากมายจริงๆ

    คนเราควรจะยืนด้วยขาของตนเอง

    ไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือเราได้ตลอดไป

    ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองก่อนแล้วใครจะมาช่วยเรา

    พรรณราย (แมม)

    ตอบลบ
  5. ไม่มีใครรักเราเท่ากับตัวเราแล้ว

    ตนเป้นที่พึ่งแห่งตน

    วันนิดา(ต๊อบ)

    ตอบลบ